นักวิจัย ม.นเรศวร คิดค้น “PM drop” น้ำยาลดฝุ่น PM ในอากาศ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุม โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดให้มีการแถลงข่าว ผลิตภัณฑ์ “PM drop” ซึ่งเป็นน้ำยาที่มีประสิทธิภาพในการจับฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่ในอากาศให้ตกลงมา ซึ่งมีทั้งแบบสูตรเข้มข้นเพื่อผสม และสูตรพร้อมใช้ โดยในองค์ประกอบของน้ำยาเป็นสารที่มาจากธรรมชาติ

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.วธู พรหมพิทยารัตน์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM (Particulate Matter) เป็นปัญหาสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงในประเทศไทย เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ในระยะยาว ปัจจุบันมีการกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่ปี 2566 พบว่าเกินมาตรฐานทุกปีในหลายพื้นที่ มีสาเหตุมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม การจราจรและการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่และเขตอุตสาหกรรมที่มีการจราจร หรือการขนส่งหนาแน่นจนประเทศได้ประกาศว่าประเทศไทยมีฤดูฝุ่นเป็นฤดูกาลที่ 4 ซึ่งจากปัญหานี้ทีมวิจัยที่มี ผศ.ดร.ภญ.วธู พรหมพิทยารัตน์ ดร.พญ.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์ และทีมผู้ช่วยนักวิจัย ได้ร่วมกันคิดค้นน้ำยา PM drop” ซึ่งมีส่วนผสมที่เป็นสารมาจากธรรมชาติ โดยทดสอบกับชุดอุปกรณ์สำหรับการวัดประสิทธิผลของการลดฝุ่น PM ที่ได้รับการรับรองมาตราฐาน ประกอบด้วย เครื่องก่อฝุ่น สำหรับใช้ที่สร้างฝุ่น เครืองวัดฝุ่นสำหรับใช้ในการวัดประสิทธิผลของน้ำยา แล้วทำการทดสอบภายในอาคาร นอกอาคาร และพื้นที่โล่งกว้าง พบว่าน้ำยา PM drop สามารถลดฝุ่น PM ให้อยู่ได้ในระดับที่ปลอดภัย โดยใช้ร่วมกับอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับขนาดและลักษณะของพื้นที่ สำหรับการฉีดพ่นเป็นละอองฝอย ได้แก่ Foggy เครื่องพ่นULC ชุดพ่นหมอก โดรนสำหรับพ่นละลอง โดย Foggy และเครื่องพ่นULCเหมาะสำหรับใช้ลดฝุ่นภายในอาคาร ชุดพ่นหมอกเหมาะสำหรับใช้เป็นม่านกันฝุ่นในอาคาร และโดรน ใช้ในการพ่นละอองสำหรับการสันทนาการหรือกิจกรรมภายนอกซึ่งสามารถใช้ร่วมกับหัวพ่นหมอกได้

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์“PM drop” น้ำยาลดฝุ่น PM ในอากาศ ได้ยื่นขอรับรองสิทธิบัตรพร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.ภญ.วธู พรหมพิทยารัตน์ โทรศัพท์ 08 1671 3839 หรือกองการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โทรศัพท์ 0 5596 8727

 

Loading